ไขมันในเลือดสูง
คอเลสเตอรอลสูง ไขมันในเลือดสูง เราสามารถควบคุมได้ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลด ละ เลี่ยง อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง แล้วหันมาทาน อาหารลดไขมัน กันดีกว่าค่ะ

โรคไขมันในเลือดสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง เป็นภาวะที่สามารถพบเจอได้ ถ้าเรารับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการรักษาโดยทั่วไปก็คือการทานยาเพื่อควบคุมระดับไขมัน แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะจะว่ากันจริงๆ แล้ว สาเหตุหลักก็มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเรานี่เอง ถ้ารู้จักควบคุมอาหารตั้งแต่ก่อนป่วย หรือแม้กระทั่งป่วยไปแล้ว ก็จะช่วยทำให้ระดับไขมันที่สูงลดลงได้ วันนี้ ถั่งเช่า ม.เกษตร มีข้อมูลดี ๆ มาบอกต่อกันค่ะ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโรคไขมันในเลือดสูง และอาหารที่เหมาะสำหรับคนที่เป็นไขมันในเลือดสูงกันก่อน

โรคไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งชนิดของไขมันที่สูงนั้นอาจเป็นไตรกลีเซอไรด์สูงคอเลสเตอรอลสูง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง และในบางกรณีก็อาจจะเป็นทั้งสองชนิด ซึ่งภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับ และโรคไทรอยด์ต่ำ เป็นต้น

โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะต้องมีระดับไขมันดังนี้

คอเลสเตอรอลรวม

  •  ระดับที่ต้องการ : น้อยกว่า 200 mg/dL (ถือว่าเหมาะสม)
  •  ระดับปานกลาง : 200 – 239 mg/dL (เริ่มอันตราย)
  •  ระดับสูง : มากกว่า 240 mg/dL (อันตรายมาก)

คอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL)

  •   ระดับที่ต้องการ : มากกว่า 60 mg/dL (ยิ่งสูงยิ่งดี แต่ไม่ควรเกิน 100 mg/dL)
  •   ระดับที่สามารถรับได้ : 40 – 59 mg/dL
  •   ไม่ควรต่ำเกิน : 40 mg/dL (ยิ่งต่ำยิ่งไม่ดีต่อสุขภาพ)

คอเลสเตอรอลชนิดที่ดี ทำหน้าที่ในการนำพาไขมันที่ไม่ดีต่างๆ ในร่างกายไปยังตับเพื่อทำการย่อยสลาย ซึ่งไขมันชนิดนี้เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย ยิ่งมีมากก็จะยิ่งทำให้ไขมันที่เข้าไปในร่างกายไม่เกิดการตกค้าง และยังช่วยกำจัดไขมันไม่ดีอย่างไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ได้อีกด้วย

 คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL)

  •    ระดับที่ต้องการ : น้อยกว่า 130 mg/dL (น้อยกว่า 100 mg/dL สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน)
  •    ระดับปานกลาง : 130 – 159 mg/dL
  •    ระดับสูง : มากกว่า 160 – 189 mg/dL
  •    ระดับสูงมาก : ตั้งแต่ 190 mg/dL ขึ้นไป

คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) เป็นไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกายซึ่งหากสะสมอยู่ในร่างกายมาก ๆ ก็จะไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดเกิดการตีบตัน จนเกิดภาวะอุตตันในเส้นเลือด ส่งผลให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ในที่สุด

ไตรกลีเซอไรด์

  •    ระดับที่ต้องการ : น้อยกว่า 150 mg/dL
  •    ระดับปานกลาง : 150 – 199 mg/dL
  •    ระดับสูง : มากกว่า 200 – 499 mg/dL
  •    ระดับสูงมาก : ตั้งแต่ 500 mg/dL ขึ้นไป

ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันชนิดที่ไม่ดี ที่จะคอยขัดขวางไม่ให้คอเลสเตอรอลที่ดีไปจัดการกับไขมันที่อยู่ในเลือด หากมีมากจนเกินไป คอเลสเตอรอลที่ดีก็จะไม่สามารถกำจัดไขมันที่ไม่ดีในเลือดได้ ส่งผลให้ไขมันที่ตกค้างอยู่ไปเกาะสะสมอยู่ในหลอดเลือดทำให้เกิดการอุดตันในที่สุด

 สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง

ภาวะไขมันในเลือดสูงนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความปกติทางพันธุกรรม ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์ หรือเกิดจากบางโรคเช่น โรคไทรอยด์ต่ำ โรคเบาหวาน โรคไต แต่สาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่มีพลังงานมากเกินความต้องการของร่างกาย และการดื่มเครื่องดื่มในปริมาณมากเป็นประจำ รวมถึงการไม่ออกกำลังกายอีกด้วยค่ะ

วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคไขมันในเลือดสูง

วิธีการวินิจฉัยโรคไขมันในเลือดสูงนั้น จะตรวจโดยการเจาะเลือด ซึ่งจะต้องทำตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และนำเลือดไปตรวจหาระดับไขมันในเลือด 3 ชนิด ได้แค่ คอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี( HDL) จากนั้นจึงจะนำค่าไขมันทั้ง 3 ชนิดไปคำนวณหาค่าคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี(LDL) วิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อค่าไตรกลีเซอไรด์สูงไม่เกิน 400 mg/dL แต่ถ้าหากค่าไตรกลีเซอไรด์สูงกว่านี้ก็จำเป็นจะต้องเจาะเลือดเพื่อหาค่าคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี หรือ LDL โดยตรงแทน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า

โดยการตรวจหาระดับไขมันทั้ง ไตรกลีเซอไรด์ และ คอเลสเตอรอลรวม ทั้งชนิดที่ดีและไม่ดีนั้นจำเป็นต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง โดยเริ่มงดตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป โดยอาจจะจิบน้ำเปล่าได้นิดหน่อย

 วิธีการรักษาเมื่อระดับไขมันในเลือดสูงผิดปกติ

เมื่อเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง วิธีการรักษาก็คือการใช้ยา โดยแพทย์จะสั่งยาในกลุ่ม Bile acid sequestrants และ Statins เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย และยาในกลุ่ม Icotinic acid, Fibric acids derivatives หรือ Analogue เพื่อช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด โดยยาเหล่านี้จะต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น แต่นอกจากการใช้ยาแล้วเรายังควรรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน ตลอดจนออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลงจนอยู่ในระดับปกติได้

อาหารที่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูง

  1. เนื้อปลา หรือ เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน
  2. ผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่มีไขมัน เช่น นมพร่องหรือขาดมันเนย โยเกิร์ตไม่มีไขมัน เป็นต้น
  3. ถั่วชนิดต่างๆ
  4. ผักสดชนิดต่างๆ โดยเฉพาะข้าวโพดและกระเทียม
  5. ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง เป็นต้น
  6. ผลไม้ไม่มีรสหวานจัด หรือสุกมากจนเกินไป
  7. อาหารประเภทต้ม ต้มยำ แกงส้ม ยำ นึ่ง อบ ย่าง แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ
  8. หลีกเลี่ยงการใช้ไขมันจากสัตว์ และหันมาใช้ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด ในการประกอบอาหารแทน แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม เพราะอาจจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีสูงขึ้น และส่งผลให้หลอดเลือดตีบแข็งได้
  9. อาหารที่มีไฟเบอร์หรือมีกากใยสูง เพราะอาหารเหล่านี้จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้
  10. ไขมันจากปลาทะเล เช่นปลาแซลมอน น้ำมันตับปลา เพราะไขมันจากเนื้อปลานั้นจะช่วยทำให้ไตรกลีเซอไรด์น้อยลง และลดการจับตัวของเกล็ดเลือดอีกด้วย

 อาหารที่คนเป็นโรคไขมันในเลือดสูงควรหลีกเลี่ยง

  1. เนื้อสัตว์ติดมัน หนังไก่ หนังเป็ด ไข่แดง เบคอน แฮม และหมูยอ
  2. อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ
  3. อาหารทะเลบางชนิด เช่น หอยนางรม และ ปลาหมึก
  4. ขนมหรือของว่างที่มีไขมันแฝงอยู่ เช่น โดนัท ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม เค้ก คุกกี้
  5. ขนมหวานที่มีส่วนประกอบของกะทิ  น้ำตาล หรือมะพร้าว เช่น ขนมหม้อแกง กล้วยบวชชี หรือขนมถ้วย เป็นต้น
  6. ไขมันที่ได้จากสัตว์ทุกชนิด เช่น มันหมู มันไก่ มันวัว เนย

 ตัวอย่างปริมาณไขมันคอเลสเตอรอลที่มีในอาหาร 100 กรัม

คอเลสเตอรอล

อย่างไรก็ตามหากมีน้ำหนักตัวเกินก็ควรพยายามลดน้ำหนักตัวลง งดการสูบบุหรี่ และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดโดยเฉพาะเบียร์ เพราะจะทำให้สะสมเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้

จะเห็นได้ว่าโรคไขมันในเลือดสูงไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวเลย เราจึงควรรักษาสุขภาพ และระมัดระวังการรับประทานอาหารให้ดี หลีกเลี่ยงการทานอาหารมันๆ งดได้ก็ควรงด เพราะว่าถึงแม้อาหารเหล่านั้นจะอร่อยแค่ไหน แต่ถ้าต้องแลกมากับสุขภาพของเรา ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองมีระดับไขมันสูงหรือไม่ ก็ควรไปตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อที่เราจะได้ระมัดระวัง ก่อนที่ “มัน” จะมาเยือนนะคะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • โรงพยาบาลบางโพ
  • www.doctor.or.th
คอเลสเตอรอลสูงไขมันในเลือดสูง ควบคุมได้ แค่กินให้เป็น